พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 20
พัฒนาการทารกในครรภ์:
- ขนาดของลูกน้อย:ผลกล้วย (มีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพก ประมาณ 5 นิ้ว)1
- ต่อมรับรสทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็กจะกลืนน้ำคร่ำประมาณมากกว่าที่เคย
- ร่างกายเริ่มผลิตขี้เทา ซึ่งเป็นอุจจาระแรกของทารก

ความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่:
- มดลูกใหญ่ขึ้นมาถึงบริเวณสะดือ2มีอาการตัวบวมและตกขาวต่อเนื่องจนคลอด ยังคงรู้สึกเป็นตะคริวที่ขา รวมทั้งมีอาการแสบร้อนกลางอกและอาหารไม่ย่อย
- รู้สึกมีพลังงานและความต้องการทางเพศสูง
- ในสัปดาห์นี้ คุณแม่บางคนอาจเข้ารับการอัลตราซาวน์อีกครั้ง ซึ่งคุณหมอมักจะนัดเข้าไปตรวจในช่วงสัปดาห์ที่ 18 – 22 การอัลตราซาวน์ในครั้งนี้จะแสดงผลได้อย่างละเอียด เป็นการช่วยให้แพทย์ทราบว่าเด็กในครรภ์แข็งแรงดีและมีการเจริญเติบโตตามปกติ
- นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ 20 คุณหมอจะเริ่มวัดอายุครรภ์ด้วยวิธีวัด Fundal Height คือการวัดความยาวจากกระดูกหัวหน่าวไปจนถึงยอดมดลูกของแม่ ซึ่งความยาวนี้ควรสอดคล้องกับจำนวนสัปดาห์ที่ตั้งครรภ์ บวกลบอีก 2 ซม. เช่น หากตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ ก็ควรวัด Fundal Height ได้ 18 – 22 ซม.1
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์:
- ใช้พลังงานที่มีมากมายตอนนี้ในการวางแผนเตรียมรับลูกน้อยก่อนที่คุณจะกลับมารู้สึกเหนื่อยอ่อนในช่วงไตรมาสสุดท้าย
- อย่างไรก็ดี ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าหักโหมหรือทำอะไรหลายอย่างจนเกินไป
- หากคุณพ่อคุณแม่อยากทำห้องนอนใหม่ให้ลูก และต้องการทาสีหรือปูพรม ให้เริ่มทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะไม่มีสารเคมีหลงเหลือตอนที่ลูกคลอดมาแล้ว

เรื่องน่ารู้ประจำการตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์:
หากคุณพ่อคุณแม่บ้านไหน อยากเริ่มเตรียมช้อปปิ้งของไว้สำหรับทำห้องให้ลูก อย่าลืมคำนึงถึงประเด็นความปลอดภัยเหล่านี้ด้วยนะคะ
- เรื่องการนอน เป็นทางเลือกส่วนบุคคลของแต่ละบ้าน แต่มักมีการแนะนำให้ทารกที่อายุ 6 เดือนหรือน้อยกว่านั้นนอนร่วมห้องกับพ่อแม่ (Co-sleep) โดยควรนอนแยกบนเปลหรือเตียงเด็กในห้องเดียวกันค่ะ
- ในการเลือกเครื่องนอนและจัดที่นอนสำหรับเด็ก ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเสียชีวิตฉับพลันในช่วงนอนหลับ (SIDS – Sudden Infant Death Syndrome) โดยเลือกฟูกที่มีความแข็งกำลังดีหรือฟูกที่ออกแบบมาสำหรับทารกโดยเฉพาะ และให้ฟูกมีขนาดเท่ากับเตียงพอดี ไม่มีร่องที่เด็กอาจเข้าไปติดได้ นอกจากนี้ ยังควรลดจำนวนเครื่องนอนบนเตียงเด็ก อย่างตุ๊กตา ผ้าห่มหนาๆ ฯลฯ เนื่องจากอาจไปกดทับให้เด็กหายใจไม่ออก หรือเป็นฐานให้ปีนลงจากเตียงได้
- พ่อแม่สามารถเลือกลักษณะที่นอนลูกได้ตามการใช้งาน เช่น หากใช้เตียงเด็ก ลูกก็อาจใช้งานได้จนอายุสัก 2 – 3 ขวบ ซึ่งยาวนานกว่าเปลเด็กแรกเกิดซึ่งใช้ได้ไม่นาน แต่ก็มีข้อดีที่พกพาไปไหนมาไหนได้
- บางบ้านอาจซื้อโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อมและถังขยะสำหรับใส่ผ้าอ้อมสกปรกไว้โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนผ้าอ้อมง่ายขึ้นจริง แต่หากไม่ซีเรียส ก็สามารถเปลี่ยนผ้าอ้อมบนเตียงหรือบนพื้น และใช้ถังขยะธรรมดา แต่หมั่นเอาไปทิ้งก็ได้นะคะ
- ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกอย่างในคราวเดียว! เน้นแค่เครื่องใช้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็น โดยเลือกที่มีฐานมั่นคงและไม่มีส่วนแหลมคมซึ่งอาจเป็นอันตราย ส่วนเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ อาจค่อยซื้อเติมทีหลังก็ได้ ลูกเราจะได้มีโอกาสเลือกสไตล์ที่เค้าชอบด้วยยังไงล่ะคะ
คลิกเพื่อกลับไปบทความหลัก<< อ่านการตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์และพัฒนาการครรภ์อ่านการตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์และพัฒนาการครรภ์ >>
อ้างอิงจาก
- Pregnancy Week by Week, The Bump, https://www.thebump.com/pregnancy-week-by-week/