เมื่อมีอีกชีวิตให้ต้องดูแล คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรต้องระวังเป็นพิเศษ วันนี้เราเลยมีข้อแนะนำเพื่อเป็นเช็คลิสต์สำหรับการออกเดินทางไกลทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศ ไปธุระต่างจังหวัด หรือไปพบปะญาติ และไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง หรือเครื่องบิน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ไปใช้เป็นไกด์สำหรับในทุกๆ ทริปค่ะ
1. ปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง
เล่าถึงแผนการท่องเที่ยวให้คุณหมอฟังอย่างละเอียด เพื่อรับคำแนะนำทางสุขภาพอย่างแม่นยำ เช่น เรื่องโรคระบาด วัคซีน ฯลฯ พร้อมขอใบรับรองและบันทึกสุขภาพจากคุณหมอไว้พกติดตัวหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
2. อายุครรภ์ที่เหมาะสมสำหรับการเดินทาง คือไตรมาสที่สอง (4 – 6 เดือน)
เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรก (1 – 3 เดือน) คุณแม่จะยังมีอาการแพ้ท้อง และในไตรมาสที่สาม (7 – 9 เดือน) คุณแม่จะอ่อนเพลียง่ายขึ้น ทั้งอาจเสี่ยงต่อการแท้งและคลอดก่อนกำหนด
สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน ควรศึกษานโยบายของสายการบินนั้นๆ เพราะอาจต้องใช้ใบรับรองแพทย์ในการเดินทาง หรืออาจไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางในกรณีใกล้คลอด
3. หากคุณแม่มีปัจจัยเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางหรือปรึกษาแพทย์ก่อน
เช่น มีประวัติการแท้งบุตรหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก1 เคยคลอดก่อนกำหนด มีประวัติการตกเลือด รกเกาะต่ำ ตั้งครรภ์แฝด มดลูกปิดไม่สนิท มีภาวะโลหิตจางรุนแรง2 ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ มีอาการกระดูกหัก เป็นต้น
4. พกยาที่สำคัญติดตัวไปด้วยทุกครั้ง
พกวิตามินที่ทานอยู่และยารักษาโรคทั่วไปติดตัวเสมอ โดยควรเก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์เดิมพร้อมฉลาก เพื่อความสะดวกเมื่อถูกตรวจค้น ควรกะปริมาณให้ครอบคลุมตลอดทริปและเก็บใบสั่งยาไว้ในกรณีที่ต้องซื้อเพิ่ม3
5. ซื้อประกันสุขภาพหรือประกันภัยการเดินทาง3
อย่าลืมตรวจสอบอย่างละเอียดนะคะ ว่าประกันนั้นๆ ครอบคลุมกรณีสตรีมีครรภ์หรือไม่
6. เตรียมของให้ครบ
ควรติดน้ำสะอาด นม และของว่าง เพื่อบรรเทาความหิวระหว่างเดินทาง รวมทั้งเตรียมหมอนรองคอหรือหลังที่จะช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้า2 นอกจากนี้ ยังควรพกยาดมหรือยาหอมเพื่อรับมือกับอาการวิงเวียน พกลูกอมเพื่อทานลดอาการคลื่นไส้และป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำ1 หรือพกผ้าปิดตาและที่อุดหูเพื่อช่วยให้หลับง่ายขึ้น
7. เปลี่ยนอิริยาบถ
หากไม่ได้เดินทางด้วยรถส่วนตัว ควรเลือกที่นั่งซึ่งเอื้อต่อการลุกขึ้นเดินบ่อยๆ เช่น ที่นั่งริมทางเดินหรือที่นั่งแถวหน้าที่มีพื้นที่เหยียดขา ควรลุกขึ้นเดินทุกชั่วโมงเพื่อสร้างความผ่อนคลาย บริหารเท้าด้วยการหมุนไปมาเพื่อลดอาการขาบวม นอกจากนี้ คุณแม่ควรปัสสาวะทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือมีอาการติดเชื้อ
8. ควรมีเพื่อนร่วมทาง
เพื่อช่วยดูแล ถือของหนัก หรือพยุงเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องเดินขึ้นลงบันได
9. แต่งกายให้เหมาะสม
ด้วยชุดสบายๆ ไม่รัดแน่นจนเกินไป เช่น ชุดผ้าฝ้ายหลวมๆ2 และรองเท้าที่รองรับน้ำหนักได้ดี
10. ดูแลตัวเองและลูก
พักผ่อนอย่างเพียงพอทั้งก่อนและหลังการเดินทาง และหากไปท่องเที่ยว ก็ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ เช่น การดำน้ำที่ต้องเจอความกดอากาศสูง หรือการเล่นกีฬาต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดแรงกระแทกเกินไป