แม้การชมเชยจะเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูก แต่ทราบไหมคะว่าการ “ชมอย่างถูกวิธี” จะยิ่งช่วยปลูกฝังให้ลูกมี Growth Mindset ที่จะส่งผลต่อการเรียนที่ดีและความสำเร็จในอนาคต รวมไปถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขอีกด้วย
การศึกษาเรื่อง Fixed Mindset (วิธีคิดแบบตายตัว) และ Growth Mindset (วิธีคิดแบบเติบโต) เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อ Dr. Carol Dweck ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดย Dr. Carol ลองใช้คำชมเชยสองแบบในการวิจัยกับเด็กนักเรียน เพื่อศึกษาว่าเด็กทั้งสองกลุ่มมีการตอบสนองต่อคำชมเชยที่ต่างกันอย่างไร
จากการศึกษาดังกล่าว Dr. Carol ได้แบ่งวิธีคิดของเด็กออกเป็น 2 ประเภท คือ
*เด็กกลุ่มนี้จะเชื่อว่าความฉลาดและความสามารถเป็นพรสวรรค์หรือเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เด็กแยกประเภทของคนว่าเป็นคนเก่ง-ไม่เก่ง หรือแข็งแรง-ไม่แข็งแรง ฯลฯ1
*เด็กกลุ่มนี้จะเชื่อว่าความฉลาดและความสามารถถูกสร้างขึ้นและพัฒนาได้ตลอดชีวิต โดยหากมีความพยายามและการฝึกฝน ทุกอย่างก็เป็นไปได้
แนวคิดและวิธีการรับมือ | Fixed Mindset | Growth Mindset |
---|---|---|
...เมื่อเจอเรื่องท้าทาย | หลีกเลี่ยงความท้าทาย เพราะกลัวว่าตัวเองจะดูแย่ หากลองทำแล้วล้มเหลว เช่น ไม่ลองเล่นกีฬาบางประเภทเพราะคะเนไว้ล่วงหน้าว่าตนไม่น่าจะทำได้ดี | ยอมรับความท้าทาย และมองว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้คนเราเติบโต |
...เมื่อเจออุปสรรค | ยอมแพ้อย่างง่ายดายเมื่อเจออุปสรรค | ค่อยๆ ฝ่าฝันอุปสรรคอย่างไม่ย่อท้อ |
...เมื่อได้รับคำวิจารณ์ | ไม่ชอบคำจารณ์ และจะรู้สึกต่อต้านเมื่อได้คำวิจารณ์ในแง่ลบ | รับฟังคำวิจารณ์ทั้งทางบวกและทางลบ เพื่อนำไปปรับใช้ในอนาคต |
...เมื่อเห็นความสำเร็จของคนอื่น | รู้สึกอิจฉาหรือเสียกำลังใจ | รู้สึกมีแรงบันดาลใจ สร้างแรงขับเพื่อพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ2 |
Growth Mindset ยังมีผลต่อการเข้าสังคมในโรงเรียนของลูกอีกด้วย โดยพบว่าเด็กที่มีวิธีคิดแบบนี้จะมีความเครียดน้อยกว่าเมื่อเจอปัญหาเด็กเกเรหรือต้องทำงานกลุ่มกับคนที่ไม่สนิท เพราะเด็กรู้สึกว่าทุกอย่าง (รวมถึงนิสัยของคน) สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้นั่นเอง3
ถึงแม้แนวคิดของ Growth Mindset จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ตัว Dr. Carol เองก็ยอมรับว่าเราไม่มีทางมี Growth Mindset ได้ 100% อยู่ตลอดเวลา เพราะนี่เป็น “วิธีรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ” ไม่ใช่ลักษณะนิสัยหรือตัวตนของเรา สิ่งที่สำคัญคือการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสมต่างหาก3
อย่างไรก็ดี 5 ข้อต่อไปนี้ เป็นวิธีง่ายๆ ที่พ่อแม่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้าง Growth Mindset ให้ลูกได้ค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ทุกต่างอยากให้ลูกรู้สึกว่าตนเองเป็นคนพิเศษ มีความสามารถทำบางสิ่งได้ดีกว่าคนอื่น แต่บางครั้งการโฟกัสที่คำว่า “พรสวรรค์” มากเกินไป อาจทำให้เด็กคิดว่าความสามารถเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและไม่สามารถสร้างเพิ่มได้อีกแล้ว4
พ่อแม่สามารถชมว่าลูกเก่งและมีความสามารถกว่าใครได้ค่ะ แต่ควรเพิ่มสัดส่วนการชมเชยในแง่ของความพยายามให้มากขึ้น เพื่อปลูกฝังให้ลูกเชื่อว่าตนเองสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ หากมีความตั้งใจ ความพยายาม และไม่ย่อท้อ
นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องเลคเชอร์ลูกเรื่องสมองแต่ละส่วนนะคะ แต่การสร้าง Growth Mindset มีสิ่งสำคัญอยู่แค่การอธิบายง่ายๆ ให้ลูกเข้าใจว่าสมองมนุษย์เป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง ที่จะแข็งแรงขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน1 โดยเมื่อลูกได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เซลล์ประสาทในสมองก็จะเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน เกิดเป็นการพัฒนาสมองนั่นเอง
ความคิดนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจและสามารถเลือกได้ว่าจะพัฒนาสมองไปในทางไหน เพราะสมองไม่ได้เป็นแค่ก้อนอวัยวะพร้อมความรู้ความสามารถที่ติดตัวลูกมาโดยที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้4
การคอยหลีกเลี่ยงความผิดพลาดอยู่ตลอดอาจทำให้เด็กกลายเป็นคนซึ่งเมื่อล้มเหลวแล้วลุกไม่ได้ โดยพ่อแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเรียนรู้ และไม่ว่าใครก็สามารถผิดพลาดได้ทั้งนั้น พ่อแม่อาจเล่าเรื่องที่ตัวเองเคยทำพลาดและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องนั้น เพื่อปลูกฝังให้ลูกไม่กลัวเมื่อเจออุปสรรค4
ว่ากันว่ายิ่งโจทย์ยากเท่าไร ความสำเร็จที่ได้รับมาภายหลังก็จะยิ่งหอมหวานขึ้นเท่านั้น…
พ่อแม่ควรสอนให้ลูกยอมรับความท้าทายและกล้าเผชิญอุปสรรค รวมถึงสนับสนุนให้พยายามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จ อาทิ ในการแก้โจทย์เลข หรือทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่อย่างไรก็ดี หากสังเกตว่าลูกเจอทางตันเพราะใช้แต่วิธีเดิมซ้ำๆ ก็ต้องแนะนำให้ลูกเปลี่ยนวิธีรับมือกับปัญหา พร้อมพูดให้ลูกสบายใจว่าสามารถขอความช่วยเหลือได้ทุกเมื่อ2
อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้เด็กไม่อยากเรียนรู้ ก็คือไม่เข้าใจว่าจะเรียนไปทำไม1 พ่อแม่ (และอาจารย์) จึงควรช่วยอธิบายให้เด็กเข้าใจเหตุผลและความสำคัญของสิ่งที่กำลังเรียนอย่างเข้าใจง่าย เพื่อสร้างแรงขับให้เด็กอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น บอกว่าการเรียนชีววิทยาเป็นพื้นฐานของอาชีพสัตวแพทย์ที่ลูกอยากเป็น การเรียนภาษาอังกฤษจะช่วยให้ลูกสื่อสารกับผู้อื่นได้เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น
สูตรลับของความสำเร็จของลูกคือความสามารถและความมั่นใจ ทั้งสองสิ่งนี้จะได้มา
ก็ต่อเมื่อลูกมีความพยายามและใช้เวลาฝึกฝน ดังนั้น แทนที่จะชมเชยลูกทุกวัน หรือแทนที่จะเยินยอว่าลูกเกิดมาเก่ง พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกเชื่อในความตั้งใจและทำงานหนัก ซึ่งเป็นวิธีคิดที่จะมีประโยชน์ในระยะยาว ทั้งในห้องเรียนและชีวิตของลูกในอนาคตด้วยค่ะ