ช้อปปิ้งลิสต์ของขุ่นแม่ เตรียมให้เบบี๋ก่อนคลอด
การเตรียมของใช้ตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เพื่อไม่ให้เกิดการฉุกละหุกเมื่อถึงเวลาต้องใช้งาน และลดปัญหาการลืมซื้อของใช้จำเป็นต่างๆ ของลูกน้อย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะทยอยซื้อเก็บไปเรื่อยๆ ก็ได้นะคะ บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่ จะหยิบยืมจากญาติพี่น้อง หรือจะนำของเก่าที่เคยมีมาใช้บ้างก็ได้ ช่วยประหยัดเงินได้ด้วย หากคุณพ่อคุณแม่ยังนึกไม่ออกว่าของใช้ลูกน้อยที่ต้องซื้อมีอะไรบ้าง แล้วซื้อมาจะได้ใช้งานมั้ย ขอแนะนำให้ซื้อตามเช็คลิสต์ของใช้จำเป็นสำหรับเด็กน้อยเลยค่ะ เพื่อการเลือกซื้อที่ง่าย สะดวก และได้ใช้ประโยชน์ทุกชิ้นแน่นอน

1. หมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
- เสื้อผ้า ควรซื้อมาเท่าที่พอใช้ก็พอค่ะ เพราะลูกน้อยโตเร็วมาก อาจใส่ได้ไม่นานก็คับเสียแล้ว คุณแม่ควรเลือกเสื้อผ้าฝ้ายคอกว้าง แบบผูกด้านหน้า จะได้ง่ายต่อการสวมใส่ ทั้งแขนสั้นและแขนยาวพร้อมกางเกง ประมาณ 5-7 ชุด และอาจจะมีชุดสำหรับออกข้างนอก, ชุดกันหนาวอีก 4-5 ชุด เน้นที่สวมใส่สบาย ปลอดภัย เหมาะสมกับลูกน้อยและสภาพอากาศ
- ถุงมือและถุงเท้าอย่างละ 4 คู่ ถุงมือใช้เพื่อป้องกันลูกน้อยเอาเล็บข่วนหน้า ซึ่งอาจไม่จำตัดเล็บลูกน้อยให้สั้นอยู่เสมอ ส่วนถุงเท้าให้ใส่เพื่อให้ความอบอุ่นขณะนอนหลับหรือออกไปข้างนอก
- หมวก 2-3 ใบ ใช้สลับกัน กันแดด กันลม ขณะพาออกไปข้างนอกหรืออากาศหนาว
- ผ้าห่อตัว ใช้ในวันออกจากโรงพยาบาลหรือพาออกไปข้างนอก แนะนำให้เป็นผ้าสำลี เพราะให้ความอบอุ่นดีในขณะที่ลูกน้อยต้องการการปรับตัวในช่วงเดือนแรก
- ผ้าอ้อมสาลู 3 โหล ผ้าสาลูกคุณภาพดี นุ่ม โปร่ง ไม่อับชื้นให้สัมผัสนุ่มสบายตัว ไม่เป็นขุย คราบเปื้อนซักออกง่าย ใช้สำหรับห่อตัวลูกน้อย หรือเอาไว้ปูรองนอน บนผ้ายางสักกะหลาด
- ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพื่อความสะดวกในการผลัดเปลี่ยนหรือเวลาที่ต้องออกไปข้างนอก ในช่วงแรกเลือกใช้แบบ New Born ก่อนนะคะ เพราะออกแบบพิเศษเพื่อเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ
- กางเกงผ้าอ้อมแบบซักได้ พร้อมแผ่นรองซับปัสสาวะ สามารถใช้แทนผ้าอ้อมสำเร็จรูปได้ค่ะ ลวดลายน่ารัก ช่วยให้คุณแม่สนุกกับการแต่งตัวลูกน้อยมากขึ้นและยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ตัวแผ่นรองซับปัสสาวะก็มีทั้งแบบที่ทำจากไมโครไฟเบอร์หรือนาโนที่กันน้ำและดูดซับได้ดี และแบบออร์แกนิกที่ช่วยต่อต้านแบคทีเรียและผื่นผ้าอ้อม ช่วยถนอมผิวที่บอบบางของลูกน้อย
- น้ำยาซักผ้าเด็ก สิ่งที่สำคัญสำหรับการซักเสื้อผ้าเด็กในช่วงที่ยังแบเบาะอยู่นั้นคุณแม่อาจจะต้องใส่ใจน้ำยาหรือผงซักฟอกที่ใช้ซักผ้าเป็นพิเศษ เนื่องจากผิวลูกน้อยยังบอบบาง อาจมีอาการระคายเคือง แพ้ได้ง่ายค่ะ

2. หมวดอุปกรณ์ให้นม
- ขวดนม ควรเลือกที่เป็นขวดพลาสติกชั้นดี ที่ปลอดสารบีพีเอ (BPA Free) และทนความร้อนได้สูงกว่า 120 องศา มีรูปทรงถือง่าย มีฐานกว้างที่ปากขวด และล้างทำความสะอาดได้ง่าย ที่สำคัญจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา และมีมาตรฐาน มอก.
- เครื่องปั๊มนม เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานและต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ไม่มีเวลาให้นมลูกในตอนกลางวัน จึงต้องปั๊มน้ำนมเก็บไว้เป็นสต๊อก
- ถุงเก็บน้ำนม ควรเลือกแบบมีซิปล็อกอย่างน้อย 2 ชั้น
- เครื่องอุ่นนมและอาหาร เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้คุณแม่ที่ต้องนำน้ำนมในสต๊อกมาอุ่นให้ลูกน้อย
- เสื้อชั้นในและผ้าคลุมให้นมลูก เพื่อความสะดวกและความสบายใจ ของคุณแม่ขณะให้นมลูกตอนอยู่นอกบ้าน หรือต้องปั๊มนมในที่ทำงานหรือสถานที่ที่เป็นสาธารณะ
- แผ่นซับน้ำนม สำหรับป้องกันไม่ให้น้ำนมไหลซึมออกมาเลอะเสื้อผ้า
- น้ำยาล้างขวดนม สำหรับทำความสะอาดขวดนม จุกนม และของใช้สำหรับทารก
- แปรงล้างขวดนมและจุกนม ควรเลือกที่ขนแปรงนุ่ม ทนความร้อนและเป็นไนลอน เพราะ ไม่ทำให้ขวดนมเป็นรอย และทนใช้งาน
- เครื่องนึ่งขวดนม เพื่อความสะดวกและปลอดภัยถูกสุขอนามัยของลูกน้อย
- หมอนให้นม เหมาะสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่หัดให้นมลูกน้อย เพราะหมอนจะช่วยรองรับน้ำหนักของลูกขณะให้นม ทำให้ไม่เมื่อยและเจ็บแผล
- กระเป๋าเก็บอุณหภูมิ เพื่อเก็บรักษาความเย็นของนมแม่เมื่อต้องปั๊มนมเก็บข้างนอกบ้าน
- กระปุกแบ่งนมผง เพื่อความสะดวกในการเตรียมนมผงล่วงหน้าเมื่อต้องเดินทางออกไปข้างนอก

3. หมวดยาและของใช้จำเป็นสำหรับเด็ก
- มหาหิงค์ (ป้องกันท้องอืด) ทาบริเวณหน้าท้อง ฝ่ามือ และฝ่าเท้าหลังอาบน้ำเสร็จ ป้องกันอาการท้องอืด บรรเทาอาการหวัดและไอ
- ไกรพ์วอเตอร์ หรือ Air-x (ยาแก้ท้องอืด) บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- วาสลีน (ครีมทากันผื่นผ้าอ้อม) ช่วยป้องกันการระคายเคืองจากการใช้ผ้าอ้อม พร้อมดูแลผิว
- แซม-บัค (ครีมทาแก้คันอักเสบบวม) สำหรับทาลดอาการคัน อาการอักเสบจากยุงกัด มด และแมลงอื่นๆ
- ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล ใช้งานง่าย แม่นยำ และปลอดภัย
- อุปกรณ์ดูดน้ำมูก สำหรับเด็กที่มีน้ำมูกคั่ง ทำให้ดูดนมหรือหายใจลำบาก
- กระเป๋าน้ำร้อน สำหรับประคบเต้านม ท้อง และหลังเพื่อคลายอาการเจ็บปวด
- ตะกร้า สำหรับใส่เสื้อผ้าและของใช้ของลูกน้อย
- กระเป๋า สำหรับใส่ของใช้เด็ก ควรเลือกที่มีหลายช่องเพื่อใส่ของใช้ได้ครบ หยิบใช้สะดวก
- กระปุก สำหรับใส่ของใช้กระจุกกระจิก เช่น สำลี ที่ตัดเล็บ แซมบัค มหาหิงค์ ฯลฯ
- เข็มกลัดซ่อนปลาย สำหรับกลัดผ้าอ้อม
- กรรไกรตัดเล็บ ตะไบเล็บ หวีแปรง
- โลชั่นหรือน้ำมันทาตัวทารก สำหรับทาบำรุงผิวเมื่อลูกน้อยมีผิวแห้ง
- แป้งที่ทำจากข้าวโพด สำหรับทาผิวป้องกันผื่นผ้าอ้อม

4. หมวดอุปกรณ์อาบน้ำและการทำความสะอาด
- อ่างอาบน้ำ เลือกที่มีที่กั้นกันลื่นเพื่อความปลอดภัย
- ตาข่ายรองอาบน้ำเด็ก หรือเก้าอี้อาบน้ำเด็ก ใช้สำหรับพยุงตัวลูกน้อยขณะอาบน้ำ เพื่อความสะดวกและปลอดภัย
- สบู่และแชมพูสำหรับเด็ก ควรเลือกสูตรอ่อนโยนต่อผิวเด็ก ไม่ทำให้แสบตา
- ฟองน้ำธรรมชาติ ใช้ชุบน้ำแล้วบีบล้างตัวและสระผมลูกน้อยได้รวดเร็วดี
- หมวกกันแชมพู ช่วยป้องกันน้ำเข้าตาเด็กขณะสระผม
- เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำ เหมาะสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เพื่อตรวจอุณหภูมิน้ำไม่ให้ร้อนเกินไปก่อนพาลูกน้อยไปอาบน้ำ (น้ำอุ่นไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส)
- ผ้าขนหนู อาจซื้อมาใช้สำหรับห่อตัวหลังอาบน้ำ 1 ผืน,เช็ดตัว 2 ผืน และผืนเล็กใช้ทั่วไปอีกสัก 1-2 ผืนก็ได้ค่ะ
- คอตตอนบัด หลากหลายขนาดขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น ขนาดเล็กใช้สำหรับเช็ดรูจมูก ขนาดใหญ่ใช้สำหรับเช็ดรูหู และขนาดธรรมดาใช้สำหรับเช็ดสะดือและอื่นๆ ซึ่งควรผ่านการฆ่าเชื้อ สะอาด และปลอดภัย
- สำลี สารพัดประโยชน์ สำหรับเช็ดตา สำหรับเช็ดก้น จะซื้อแบบแผ่น แบบก้อน หรือจะใช้แบบม้วนแล้วมาตัดเองก็ได้นะคะ
- กระดาษทิชชู สำหรับเช็ดทำความสะอาดทั่วไป
- กระดาษทิชชูแบบเปียก (Baby Wipes) สำหรับเช็ดทำความสะอาด ขณะออกไปข้างนอก
- ผ้าก๊อซ สำหรับชุบน้ำอุ่นเช็ดปากและเหงือก
- น้ำเกลือ สำหรับสวนล้างจมูกและทำความสะอาดต่าง ๆ
- กระติกน้ำร้อน สำหรับผสมน้ำอาบและใช้ร่วมกับสำลีเช็ดทำความสะอาด
- กะละมังซักผ้าอ้อม 2- 4 ใบ ขนาดตามความเหมาะสม
- ราวตากผ้าอ้อม พร้อมที่หนีบและไม้แขวนเสื้อเด็ก
- ถังขยะมีฝาปิดกันกลิ่น

5. หมวดเครื่องนอน
- เบาะนอน ไม่ควรนิ่มจนเกินไป เพราะอาจเกิดอันตรายต่อลูกน้อย กรณีพลิกตัวนอนคว่ำหน้า ทำให้หายใจไม่ออกได้
- ผ้ายางรองเปื้อน เพื่อไม่ให้ปัสสาวะของลูกซึมเลอะที่นอน
- ผ้าปูที่นอน ควรเลือกใช้ผ้าฝ้าย นิ่มเบา และอุ่นสบาย
- ผ้าห่มและผ้าคลุม ควรเป็นผ้าที่ทำจากเส้นใยอะคริลิกหรือผ้าฝ้ายผสมพอลิเอสเตอร์ ที่ทำความสะอาดง่ายและไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้
- เปลไกว สำหรับช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับง่ายขึ้น
- เก้าอี้นอนแบบโยกของเด็ก สำหรับช่วยเบาแรงคุณแม่ กล่อมลูกน้อยได้โดยไม่ต้องอุ้มตลอดเวลา สามารถเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้สะดวก
- มุ้งครอบ ป้องกันยุงกัด

6. หมวดการเดินทาง
- คาร์ซีท (Car Seat) เพื่อความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าลูกน้อยจะนั่งรถเดินทางไปไหนก็ปลอดภัย
- เป้อุ้มเด็ก ช่วยให้คุณแม่มีความคล่องตัวและมีมือว่างสำหรับการทำธุรต่างๆ ขณะออกไปข้างนอกได้
- ตะกร้าหิ้วเด็ก เมื่อออกจากโรงพยาบาลเพื่อที่จะกลับบ้าน หลายคนไม่รู้จะพาลูกกลับอย่างไร ขามาโรงพยาบาลมีแค่ 2 คน ขากลับมี 3 คน แนะนำให้ใส่ตะกร้าหิ้วเด็กเพื่อความปลอดภัยนะคะ ดูรุ่นที่สามารถใช้ในรถสำหรับเข็มขัดนิรภัย และปรับใช้กับเด็กแรกเกิดได้ด้วยก็จะไม่ต้องสิ้นเปลืองมากค่ะ
- รถเข็นเด็ก คุณแม่ควรเลือกรถเข็นแบบที่ปรับได้ทั้งนั่งและนอน เข็นได้ง่าย มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา มีเบรกใน สามารถพับเก็บได้ เพื่อความสะดวกและช่วยผ่อนแรงคุณแม่ขณะออกไปข้างนอกได้อย่างมาก เลือกรุ่นที่ปรับใช้ได้ทั้งเด็กอ่อนและเด็กที่โตขึ้นมาอีกนิด บางรุ่นใช้ได้จนถึงขวบสองขวบ ช่วยประหยัดเงินไม่ต้องเปลี่ยนรุ่นกันบ่อยๆ ค่ะ
อ่านต่อ
ท้อง 1-3 เดือน
ท้อง 4-6 เดือน
แม่ท้องนอนท่าไหนปลอดภ้ัย
ท้อง 7-9 เดือน
ตั้งชื่อลูก
อาการแพ้ท้อง
อ้างอิงจาก
- http://www.mamaexpert.com/posts/content-817
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด